ปีที่ 12 ของการดำเนินงานของกองทุนนั้น เป็นปีครบกำหนดชำระเงินกู้ยืม (สำหรับการลงทุนครั้งแรก) ส่วนที่เหลือทั้งหมดของกองทุน ส่งผลให้กองทุนอาจมีกระแสเงินสดสำหรับจ่ายให้แก่นักลงทุนลดลงเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ซึ่งในปีดังกล่าว บริษัทจัดการอาจพิจารณาหาแหล่งเงินทุนมาเพื่อชำระเงินกู้ยืมทั้งหมดหรือบางส่วน เช่น การกู้ยืมเงินเพื่อ Re-finance หรือ การเพิ่มทุน ซึ่งจะช่วยทำให้อัตราเงินจ่ายในปีที่ 12 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อนๆหน้าได้ อย่างไรก็ตาม การระดมทุนในปีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินจ่ายผู้ถือหน่วยได้รับในปีถัดๆ ไปแทน
ค่าความเข้มแสงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อจำนวนเงินจ่ายในแต่ละไตรมาสของกองทุนได้ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของค่าความเข้มแสงอาทิตย์ในแต่ละช่วงไตรมาสของในแต่ละปีนั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 19 โครงการตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีค่าความเข้มแสงอาทิตย์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (ข้อมูลปี 2557-2561) และกระจายตัวอยู่ใน 8 จังหวัด ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้
ประมาณการอัตราเงินจ่าย 12 เดือนแรกที่ 7.49% นั้น เป็นอัตราเงินจ่าย ณ มูลค่าเข้าลงทุนสูงสุดที่ 8,150 ล้านบาท โดยหากมูลค่าเข้าลงทุนจริงต่ำกว่ามูลค่าเข้าลงทุนสูงสุด ประมาณการอัตราเงินจ่ายที่คาดว่าผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับจะมีโอกาสสูงกว่า 7.49% อันเนื่องมาจากเงินลงทุนรวมที่ลดลง (จำนวนหน่วยลดลง ทำให้ประมาณการอัตราเงินจ่ายต่อหน่วยสูงขึ้น) ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานที่ผลการดำเนินงานจริงของกองทุนไม่แตกต่างไปจากสมมติฐานการประมาณการอัตราเงินจ่ายที่เปิดเผยไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างมีนัยสำคัญ
ในกรณีที่ไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมในช่วงระยะเวลาการรับโอนรายได้สุทธิ กองทุนมีแนวโน้มที่จะทยอยคืนทุนในแต่ละปีนั้น โดยจะขึ้นอยู่กับสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนในอนาคตเป็นสำคัญ โดยหากไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนมีแนวโน้มลดลงเป็นศูนย์บาท เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการรับโอนรายได้สุทธิ
ประมาณการอัตราเงินจ่าย 12 เดือนแรกที่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนที่ 7.49% นั้น คิดเป็นเงินปันผลทั้งจำนวน ภายใต้สมมติฐานว่ามูลค่าทรัพย์สินของกองทุนในระยะเวลาประมาณการรอบ 12 เดือนแรกไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยหากมูลค่าทรัพย์สินของกองทุนที่ประเมินโดยผู้ประเมินค่าอิสระมีค่าลดลงกว่าราคาเข้าลงทุน และกองทุนยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินจากการดำเนินงาน บริษัทจัดการอาจพิจารณาจ่ายผลตอบแทนบางส่วนในรูปของเงินคืนทุนได้

คาดว่าจะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าทั้ง 19 โครงการที่กองทุนรับโอนรายได้สุทธิโดยตรง เนื่องจากการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 19 โครงการนั้น มีการลงทุนก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2560) จะมีผลบังคับใช้ อีกทั้งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) นั้น ได้ผ่านมติ ครม. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างก็ตาม บริษัทจัดการ, ที่ปรึกษาทางการเงิน และ SUPER มีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

  1. ความเห็นของผู้ตรวจการดังกล่าว เป็นเพียงแสดงความเห็นต่อแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ไม่ใช่กฏหมายและหน่วยงานของรัฐยังไม่ได้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม และยังต้องอาศัยการตีความกฏหมายต่างๆอีกมาก
  2. ผลกระทบจากข้อ 1. ไม่ว่าจะตีความในรูปแบบใด ไม่ควรส่งผลต่อโรงไฟฟ้าที่ได้มีการเปิดดำเนินการไปแล้วในปัจจุบัน รวมถึงไม่ส่งผลต่อ 19 โครงการที่จะเข้ากองทุน SUPEREIF
  3. หากรัฐมีการปรับแผน PDP อาจส่งผลต่อบริษัทที่เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าต่างๆ เช่น SUPER โดยในกรณีที่แย่ที่สุด คือ ไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยภาคเอกชน ส่งผลต่อโอกาสในการลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติมของ SUPEREIF ที่น้อยลง
การเปลี่ยนแปลงของรายได้ของโรงไฟฟ้าทั้ง 19 โครงการนั้น โดยหลักจะขึ้นอยู่กับจำหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตและจำหน่ายให้กับ กฟภ. และ กฟน. เป็นสำคัญ ซึ่งจะมีปัจจัยที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อจำหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ ได้แก่ ค่าความเข้มแสงอาทิตย์ และการเสื่อมสภาพของแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากค่าความเข้มแสงอาทิตย์ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ ปริมาณการขายไฟฟ้า (จำนวนหน่วย) จะมีแนวโน้มลดลงตามระยะเวลาอันเนื่องมาจากการการเสื่อมสภาพของแผงโซลาร์เซลล์และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งเป็นลักษณะโดยทั่วไปของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิคย์ ทั้งนี้ ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยนั้นจะเป็นอัตราคงที่ตลอดระยะเวลาคงเหลือ 22 ปีเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง 17AYH และ HPM กับ กฟน. และ กฟภ.
ตามนโยบายของกองทุนนั้น กองทุนจะมุ่งเน้นลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทโรงไฟฟ้า และ/หรือพลังงานทางเลือกเป็นหลัก โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โรงไฟฟ้าของกลุ่ม SUPER เพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยในการตัดสินใจเข้าลงทุนเพิ่มเติมบริษัทจัดการจะพิจารณาถึงศักยภาพในการสร้างรายได้ ลักษณะของทรัพย์สิน ความเสี่ยงและผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับในระยะยาว
ความเสี่ยงจากการการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่อาจลดลงโดยผู้ประเมินค่าอิสระ ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ เช่น ระยะเวลาการรับโอนสิทธิในการรับรายได้สุทธิของกองทุนที่ลดลงตามระยะเวลาที่ผ่านไป และปัจจัยอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน ซึ่งการประเมินมูลค่าทรัพย์สินดังกล่าวที่ด้อยค่าลงจะส่งผลต่อรูปแบบเงินจ่ายที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ซึ่งในปีที่มีการประเมินการด้อยค่าของทรัพย์สินและกองทุนยังคงมีสภาพคล่องส่วนเกินจากการดำเนินงาน กองทุนอาจจะจ่ายเงินให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปแบบของเงินคืนทุน
แผงโซลาร์เซลล์ของโรงไฟฟ้าทั้ง 19 โครงการนั้น มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปีครอบคลุมระยะเวลาที่กองทุนเข้าลงทุนในสิทธิรับรายได้สุทธิ และมีการรับประกันประสิทธิภาพ (Performance Warranty) จากผู้ผลิตและจำหน่ายเป็นระยะเวลา 25 ปี และสำหรับการบำรุงรักษาอุปกรณ์นั้น กองทุนได้ทำสัญญาจ้างบริหารจัดการกับ SUPER เพื่อให้ SUPER รับเหมางานดูแลและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าทั้ง 19 โครงการด้วยค่าตอบแทนในแต่ละปีที่ระบุไว้ชัดเจนตามสัญญา ดังนั้น ผลกระทบจากทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว จะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัทจัดการอาจพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ทั้งนี้ บริษัทจัดการจะพิจารณาถึงแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในขณะนั้นและต้นทุนในการใช้เครื่องมือทางการเงินดังกล่าว อย่างไรก็ตามสำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในช่วงระยะเวลาประมาณการ 12 เดือนแรกจะเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่
ผู้จัดการการจัดจำหน่ายจะดำเนินการคืนเงินค่าจองซื้อในส่วนที่ไม่ได้รับจัดสรรอย่างช้าที่สุดภายในไม่เกิน 10 วันทำการนับจากวันสิ้นสุดการเสนอขายครั้งแรก ด้วยวิธีการโอนเงินเข้าบัญชีในชื่อของผู้จองซื้อหน่วยลงทุนตามที่ระบุไว้ในใบจองซื้อหน่วยลงทุน โดยหากไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ ผู้จัดการการจัดจำหน่ายจะชำระคืนเป็นเช็คหรือแคชเชียร์เช็คขีดคร่อมเฉพาะสั่งจ่ายในนามผู้จองซื้อหน่วยลงทุน