ข้อมูลทั่วไปของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF)

ชื่อโครงการจัดการ (ภาษาไทย) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี
ชื่อโครงการจัดการ (ภาษาอังกฤษ) Super Energy Power Plant Infrastructure Fund
ชื่อย่อกองทุนฯ SUPEREIF
บริษัทจัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
ผู้ดูแลผลประโยชน์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับการเสนอขายครั้งแรก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ประเภทกองทุนฯ เป็นกองทุนรวมปิดชนิดที่เสนอขายหน่วยลงทุนต่อผู้ลงทุนเป็นการทั่วไปประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุน ซึ่งบริษัทจัดการจะยื่นขอจดทะเบียนหน่วยลงทุน เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
วัตถุประสงค์ของกองทุนฯ เพื่อระดมเงินทุนจากนักลงทุน โดยนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทไฟฟ้า และ/หรือ พลังงานทางเลือกเป็นหลัก (โดยจะลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนเพื่อเป็นรายได้ให้แก่กองทุนฯ และทำให้กองทุนฯ สามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนได้ในระยะยาว) รวมถึงลงทุนในทรัพย์สินอื่นๆ หลักทรัพย์ และ/หรือตราสารอื่นๆตามที่กฎหมายหลักทรัพย์อนุญาตให้ลงทุนได้
อายุกองทุนฯ ไม่มีกำหนดอายุ
จำนวนเงินทุนโครงการ 5,150 ล้านบาท และมีการกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินในวงเงิน 3,000 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินที่ได้จากการระดมทุนโดยการเสนอขายหน่วยลงทุนและการกู้ยืมเงินทั้งสิ้น 8,150 ล้านบาท
ชนิดหน่วยลงทุน มีชนิดเดียว ซึ่งมีสิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนเท่าเทียมกันทุกประการ
สิทธิประโยชน์และนโยบายการจ่ายเงินปันผลและการคืนเงินลงทุน

กองทุนฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง เว้นแต่ปีปฏิทินแรกและปีปฏิทินสุดท้ายของการลงทุนของกองทุนฯ ซึ่งระยะเวลาการลงทุนหรือระยะเวลาจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์สินอาจไม่เต็มปีปฏิทิน บริษัทจัดการจะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาจำนวนครั้งของการจ่ายเงินปันผลในปีดังกล่าวตามความเหมาะสม (ในกรณีที่กองทุนฯมีกำไรสะสมเพียงพอ โดยเมื่อรวมแล้วในแต่ละงวดปีบัญชี จ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้วหรืออัตราส่วนอื่นใดที่กฎหมายหลักทรัพย์อนุญาตให้กองทุนฯ จ่ายได้)

นอกจากนี้ กองทุนฯ มีนโยบายคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปของการลดทุน เมื่อกองทุนฯ มีสภาพคล่องส่วนเกินตามที่โครงการจัดการกองทุนฯ และกฎหมายหลักทรัพย์ให้กระทำได้

แผนภาพแสดงความเสี่ยงของกองทุนฯ

สำหรับการลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานครั้งแรก กองทุนฯ จะลงทุนในรายได้สุทธิที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ 17AYH และ HPM โดยรายได้หลักของโรงไฟฟ้าจะมาจากการขายไฟฟ้าให้แก่คู่สัญญาที่เป็นรัฐวิสาหกิจ คือ กฟภ. หรือ กฟน. (แล้วแต่กรณี) ซึ่งเป็นคู่สัญญาที่มีความน่าเชื่อถือ อีกทั้งสัญญาซื้อขายไฟฟ้ายังเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาว และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แต่ละโครงการได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยและเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลาประมาณ 3 ถึง 4 ปีแล้ว ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า กองทุนฯ มีการกำหนดให้โครงสร้างค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า มีการกำหนดราคาตามสัญญาที่แน่นอน และค่าใช้จ่ายบางส่วนของโรงไฟฟ้าเป็นแบบเหมา เพื่อลดความผันผวนของรายได้สุทธิ นอกจากนี้ ด้วยลักษณะของธุรกิจการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้แก่ กฟภ. หรือ กฟน. (แล้วแต่กรณี) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้านั้น การเกิดขึ้นของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ๆ ก็มิได้มีผลกระทบทางลบต่อผลประกอบการของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่กองทุนฯ เข้าไปจัดหาผลประโยชน์ในรูปของการลงทุนในรายได้สุทธิ สำหรับการลงทุนครั้งแรกนี้แต่อย่างใด จึงเห็นว่า กองทุนฯ นี้มีระดับความเสี่ยงใกล้เคียงกับกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม ซึ่งมีระดับความเสี่ยงในระดับ 7 ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลในหนังสือชี้ชวนโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน

การลงทุนในทรัพย์สินที่กองทุนฯ ลงทุนครั้งแรก สิทธิในรายได้สุทธิที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 19 โครงการ กำลังการผลิตรวม 118 เมกะวัตต์ ของ บริษัท 17 อัญญวีร์ โฮลดิ้ง จำกัด (17AYH) และบริษัท เฮลท์ แพลนเน็ท เมเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด (HPM) ซึ่งระยะเวลาการโอนสิทธิภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิเริ่มตั้งแต่วันที่กองทุนฯ เข้าลงทุนสำเร็จ ซึ่งคือวันที่ 14 สิงหาคม 2562 จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของแต่ละโครงการ โดย 17AYH หรือ HPM ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ทั้งนี้ ระยะเวลาของสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแต่ละโครงการ (นับจากวันที่ 14 สิงหาคม 2562) มีอายุคงเหลือประมาณ 21-22 ปี โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฉบับสุดท้ายจะสิ้นสุดในวันที่ 26 ธันวาคม 2584
การลงทุนในทรัพย์สินเพิ่มเติม นอกเหนือจากการลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิของ 17AYH และ HPM บริษัทจัดการในนามของกองทุนฯ อาจพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่น และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่จะลงทุนเพิ่มเติมดังกล่าว โดยจะมีขอบเขตและแนวทางการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการจัดการกองทุนฯ และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายหลักทรัพย์และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่อนุญาตให้กระทำได้ ณ ขณะนั้นๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมเป็นสำคัญ
จำนวนหน่วยลงทุน 515 ล้านหน่วย
ประเภทหน่วยลงทุน ระบุชื่อผู้ถือ
ราคาเสนอขายหน่วยลงทุน 10 บาทต่อหน่วย
จำนวนหน่วยลงทุนขั้นต่ำของการจองซื้อ 2,000 หน่วย และเพิ่มครั้งละ 100 หน่วย
ผู้จัดการการจัดจำหน่าย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
วิธีการจัดสรร Small-lot First สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป
ช่วงเวลาเสนอขาย 22-26 และ 30 ก.ค. 62 ในเวลาทำการของสาขาที่เปิดรับจองซื้อ และ 31 ก.ค. 62 ก่อนเวลา 15.30
สถานที่จองซื้อ ธนาคารกรุงเทพ ทุกสาขา ยกเว้นสาขาไมโคร
การรับประกัน ไม่มีการรับประกันผลตอบแทน